อาคารจัดแสดงที่ 1
|
จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดี แสดงถึงพัฒนาการของเมืองโบราณอู่ทอง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งพัฒนาเข้าสู่สังคมประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี ประกอบด้วยห้องจัดแสดง 2 ห้อง
|
ห้องบรรพชนคนอู่ทอง
|

|
ห้องบรรพชนคนอู่ทอง (สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และการรับวัฒนธรรมจากภายนอก) จัดแสดงถึงพัฒนาการของเมืองโบราณ อู่ทอง เมืองโบราณแห่งนี้ พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ แบบสังคมเกษตรกรรมยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ต่อมาประมาณ 2,000 ปี พบหลักฐานโบราณที่แสดงว่า เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการติดต่อขายสำคัญของชุมชนโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศสำคัญของโลกในเวลานั้น เช่น ลูกปัดชนิดต่างๆ ทำด้วยลูกปัดต่างๆ ทำด้วยหินมีค่าที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย เหรียญกษาปณ์โรมัน ปูนปั้นรูปพ่อค้าชาวเปอร์เซีย ฯลฯ ราวพุทธศตวรรษที่ 8 - 10 หรือเมื่อประมาณ 1,600 - 1,800 ปีที่ผ่านมา พบหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนาในเมืองโบราณ อู่ทอง โดยเฉพาะพุทธศาสนาแบบหินยาน หรือเถรวาท ทำให้เมืองอู่ทองเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางวัฒนธรรมเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยประวัติศาสตร์ยุคแรกสุดบนผืนแผ่นดินไทย |
โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องประดับทองคำ ลูกปัดทองคำสมัยทวารวดี ลูกปัดที่ทำจากหินแก้ว แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุอุ้มบาตร อิทธิพลศิลปะอมราวดี ซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุ ที่ได้รับอิทธิพลอินเดียที่มีอายุเก่าที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย แผ่นดินเผ่ารูปเทวดา ตราประทับดินเผา จารึกดินเผา จารึกแผ่นทองแดงเหรียญกษาปณ์โรมัน เหรียญเงินมีจารึก และพระพุทธรูปสำริด
|
ห้องจัดแสดงอู่ทองศรีทวารวดี
|

|
ห้องอู่ทองศรีทวารวดี (วัฒนธรรมทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง) จัดแสดงเรื่องราว และความสำคัญของเมืองโบราณ อู่ทองในฐานะเมืองประวัติศาสตร์ยุคแรกของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้า และศูนย์กลางพระพุทธศาสนาก่อนแพร่กระจายความเจริญไปสู่ชุมชนโบราณร่วมสมัยอื่นๆ |
เมืองโบราณ อู่ทองเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีผังเมืองเป็นรูปวงรี ตัวเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบภายในตัวเมืองและบริเวณโดยรอบมีซากโบราณกระจายอยู่ไม่น้อยกว่า 20 แห่ง ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของโบราณสถานคอกช้างดิน กลุ่มศาสนาสถานและสิ่งก่อสร้าง เนื่องในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เมืองโบราณอู่ทองมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 - 16 หรือประมาณ 1,000 - 1,400 ปีที่ผ่านมา เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัตถุและวิทยาการต่างๆในอดีต อันมีผลจากการผสมผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับการรับวัฒนธรรมจากประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ทวารวดี” มีลักษณะที่สำคัญคือ การวางผังเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบการนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทการสร้างศาสนสถานด้วยอิฐขนาดใหญ่ และการมีรูปแบบทางศิลปกรรมเฉพาะของตนเอง |
โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดง ได้แก่ ธรรมจักรศิลา พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปดินเผา ประติมากรรมดินเผา ลูกปัด เครื่องประดับ เครื่องมือเครื่องใช้ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ลวดลายปูนปั้น ฯลฯ โดยเฉพาะธรรมจักรศิลาพร้อมแท่นและเสาตั้งซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมที่พบเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย
|
อาคารจัดแสดงที่ 2
|
จัดแสดงนิทรรศการถาวร เกี่ยวกับดินแดนสุวรรณภูมิ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณ อู่ทอง เส้นทางการค้าทางทะเล และเมืองโบราณ อู่ทอง ในฐานะศูนย์กลางของศาสนาพุทธ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้
|
ห้องจัดแสดงชั้นบน ส่วนที่ 1
|

|
"พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ บนผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิ" จัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของดินแดนสุวรรณภูมิ แหล่งการค้าสำคัญของโลกยุคโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าคือดินแดนที่เป็นประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์กระทั่งเข้าสู่สังคมเมือง และการค้าระหว่างชุมชนโบราณต่างๆ ทั้งในและภายนอก ด้วยโบราณวัตถุและสื่อจัดแสดงประเภทต่างๆ ที่ทันสมัย
|
ห้องจัดแสดงชั้นบน ส่วนที่ 2
|

|
“สุวรรณภูมิการค้าของโลกยุคโบราณ” จำลองเหตุการณ์การค้าทางทะเลจากคาบสมุทรอินเดียสู่ดินแดนสุวรรณภูมิเมื่อราว 3,000 ปีที่ผ่านมาโดยใช้สื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์ แสดงถึงการเดินเรือของพ่อค้าชาวต่างชาติ เส้นทางการค้าและเมืองท่าสำคัญในเวลานั้น ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเมืองอู่ทองโบราณโดยตรง
|
ห้องจัดแสดงชั้นล่าง
|

|
"อู่ทอง ศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา" จัดแสดงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อประมาณ 1,600 - 1,800 ปีที่ผ่านมา "เมืองโบราณ อู่ทอง อรุณรุ่งแห่งอารยธรรมไทย" เป็นเมืองสำคัญยุคแรก ที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธจากอินเดีย ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดกำเนิดวัฒนธรรมทวารวดีในเวลาต่อมา โดยหลักฐานว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานที่เมืองโบราณอู่ทองเป็นจุดแรกในดินแดนประเทศไทยจัดแสดงโดยใช้โบราณวัตถุสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา แบบจำลองเจดีย์ธรรมจักร และการขุดค้นทางโบราณคดีที่มีเมืองโบราณอู่ทองด้วยเทคนิคการจัดแสดงอันทันสมัยพร้อมภาพยนตร์แอนนิเมชั่น
|
เรือนลาวโซ่ง
|

|
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ได้จำลองเรือนลาวโซ่งจัดแสดงไว้ภายใน เรือนลาวโซ่งถือเป็นรูปแบบบ้าน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ชาติพันธุ์สำคัญชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในอำเภออู่ทอง |
ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง เป็นกลุ่มคนเชื้อสายไท มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศลาวและเวียดนาม ในสมัย ธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กองทัพไทยได้ยกไปตีนครเวียงจันทร์และเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านช้าง (ประเทศลาว) ได้กวาดต้อนผู้คนครอบครัวชาวลาวต่างๆ มาจำนวนมาก รวมทั้งชาวลาวโซ่งมายังอาณาจักรสยาม (ประเทศไทย) ชาวลาวโซ่งที่เข้ามาครั้งนั้นได้ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานที่อยู่ไปทำมาหากินในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งที่จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย ในปัจจุบันชุมชนชาวไทยทรงดำ ในจังหวัดสุพรรณบุรี อาศัยอยู่เขตอำเภออู่ทอง อำเภอเมือง อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอบางปลาม้า |
ชาวไทยทรงดำ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตัวเองพูดกันในกลุ่มเชื้อสายเดียวกัน มีเอกลักษณ์ทางการแต่งกายที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ เครื่องแต่งกายสีดำที่ย้อมครามจนเข้มเป็นสีน้ำเงินดำ |
ชาวไทยทรงดำ มีความเชื่อ การนับถือผี สิ่งที่เหนือธรรมชาติ และวิญญาณบรรพบุรุษ มีการประกอบพิธีกรรมที่เป็นแบบแผนมาจนปัจจุบัน เช่น พิธีเสนเฮือน หรือไหว้ผีเรือน พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน และพิธีศพ ที่มีความคล้ายคลึงกับพิธีของคนจีนในบางประการ
|
นิทรรศการพิเศษ เรื่อง สถาปัตยกรรมทวารวดีเมืองอู่ทอง : รูปแบบสันนิษฐาน
|

|
นิทรรศการพิเศษ เรื่อง ทวารวดี อรุณรุ่งแห่งอารยธรรมของประเทศไทย
|

|